หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

Mini Talk: จำเป็นหรือไม่ ที่เราต้องมาใช้ Lamduan Mail ของมหาวิทยาลัย

ขอสวัสดีน้องๆ นักศึกษาใหม่ทุกท่านนะครับ นานแล้วที่ไม่ได้เขียนอะไรบน Blog เลย เมื่อวันก่อน มีน้องๆ (น่าจะนักศึกษาใหม่) เข้ามาถามว่า ตอนนี้ตัวเองใช้ Gmail อยู่แล้ว แล้ว Lamduan mail คืออะไร จำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้หรือไม่ แล้วมันต่างกันอย่างไร ......
เชื่อว่า หลายๆ คน ได้ยินชื่อ Lamduan mail ก็คงจะงงๆ ยิ่งถ้าใครอ่านวิธี Login แล้ว .... อ่าว นี่มัน Gmail ไม่ใช่เหรอ ?

เรื่องนี้เคยเขียนลงในเพจของที่ทำงานผมเอง แต่ก็นานมาแล้ว วันนี้ขอมาเขียนลง Blog ของ We Love MFU mail ก็แล้วกันนะครับ อันดับแรกเลย ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า ก่อนหน้านี้ (ก่อนปี 56) มฟล. ของเรา ไม่มีบริการ Email สำหรับนักศึกษา เนื่องจากข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน (ขนาดผมที่เป็นพนักงาน แม้จะมี เมลล์ของมหาลัยใช้งาน ผมก็ยังไม่อยากจะใช้เลยน่ะนะ เพราะ ข้อจำกัดที่ว่ามันเยอะมาก) จนเมื่อ Google เปิดบริการ Google Apps for Education ขึ้นมา โดยมอบให้หน่วยงานการศึกษาใช้งานได้ฟรี แถมสามารถใช้งานบริการต่างๆ ของ Google เช่นเดียวกับบัญชีของ Gmail ที่เรารู้จักกันนั่นแหละ แต่ชื่อโดเมนของ Email จะเป็นชื่อของสถานศึกษาเอง โดยของ มฟล. เราก็มี 2 ชื่อคือ @mfu.ac.th และ @lamduam.mfu.ac.th โดยแยกเป็นของพนักงานและนักศึกษาตามลำดับครับ



แล้ว Lamduan mail กับ Gmail ต่างกันอย่างไร ถ้ามองในแง่ของ Apps ที่มีให้บริการ ณ เวลานี้ ก็แทบจะเหมือนกันครับ คือ Gmail (แบบฟรี) ใช้งานอะไรได้บ้าง Lamduan mail ก็ใช้งานได้หมด (ตอนเริ่มต้น มีบาง Apps ที่ใช้งานไม่ได้ เช่น Youtube เป็นต้น) ดังนั้นในการใช้งาน น้องๆ สามารถเลือกใช้งานได้ตามสะดวกครับ


แต่ Lamduan mail ยังมีข้อได้เปรียบอยู่หลายๆ อย่าง โดยอันแรกก็คือ ตอนนี้เราได้พื้นที่จัดเก็บข้อมูลแบบไม่จำกัด บนระบบเมลล์และ Google Drive ดังภาพที่ผมแนบมา ผมทดลองสำเนาข้อมูลไฟล์ที่มีขึ้นบน Drive ขนาดก็ 2TB หรือ 2000GB ครับ ในขณะที่ Gmail ตอนนี้ให้พื้นที่ฟรีเพียง 15GB เท่านั้น หากต้องการเพิ่มก็ต้องมีค่าใช้จ่ายหรือสมัคร Account เพิ่ม 

ข้อดีของ Lamduan mail อันถัดมาก็คือ ทางผู้ดูแลระบบ ได้เปิดสิทธิ์ในการเข้าถึงบัญชี บางส่วนของสมาชิกในระบบ โดยเราสามารถ ส่ง Email ถึงอาจารย์ หรือ เพื่อนๆ ที่ใช้ MFU mail หรือ Lamduan mail ได้เลย เพียงพิมพ์ชื่ออาจารย์ หรือ เพื่อนลงไป หรือ กรณีนักศึกษา จะพิมพ์ ID ลงไปก็ได้ ระบบจะดึงรายชื่อขึ้นมาให้เอง เราก็สามารถส่งเมลล์ไปยังบุคคลนั้นๆ ได้เลย แต่หากเป็น Gmail เราต้องรู้ชื่อ Email ของบุคคลนั้นก่อน 

รวมถึง Calendar ที่เราสามารถเข้าดูตารางงานของอาจารย์ ที่เราอยากติดต่อได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องส่งคำขอ (ของ Gmail เราต้องส่งคำขอไปก่อน) ทั้งนี้จะดูได้เฉพาะปฏิทินหลักของอาจารย์เท่านั้นนะครับ และอาจารย์ท่านนั้นต้องกรอกรายละเอียดลงปฏิทินด้วย ไม่งั้นก็จะมองไม่เห็นอะไร (แต่หากอาจารย์ไม่ได้กรอกรายละเอียด น้องๆ ก็ยังสามารถเมลล์หาอาจารย์ได้โดยตรงครับ)

นอกจากนี้ Google ยังมีบริการ Group และ Google Classroom ที่มีอาจารย์หลายท่านได้เริ่มนำมาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งจะช่วยในการติดต่อ สอบถาม ส่งงาน ส่งการบ้าน นัดหมายต่างๆ ระว่างอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งหากน้องๆ ไม่ได้ใช้งาน Lamduan mail ก็อาจไม่สะดวกในการติดต่อน่ะนะครับ (แต่หากจะใช้ชื่อบัญชีของ Gmail ก็ใช้ได้นะครับ แต่ต้องตกลงกับอาจารย์ผู้สอนเองนะครับ)

และสิ่งที่ดูจะพิเศษสุดสำหรับ Lamduan mail ก็คือ กรณีเราลืมรหัสผ่าน หรือเข้าใช้งานบัญชีไม่ได้ ก็ไม่ต้องกังวลครับ เพียงแค่น้องๆ ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ Network ที่ ศูนย์ IT ของมหาลัย พี่ๆ เค้าก็จะจัดการให้เลย ไม่ต้องส่งเมลล์ ส่งคำร้องไปที่ Google เช่นกรณีของ Gmail 

นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยก็มีนโยบายว่า จะให้นักศึกษาใช้งาน Lamduan mail ได้ตลอดชีวิต (หรือจนกว่า Google จะเลิกให้บริการ) ดังนั้นน้องๆ ก็จะมีพื้นที่ไว้สำหรับสำรองข้อมูลแบบไม่จำกัด ตลอดชีพเลยทีเดียว (ผมเอง ก็เก็บบัญชีนักศึกษาไว้เหมือนกัน เพราะข้อดีตรงนี้แหละ) 

แล้วเราจะเลือกใช้อะไรดี .... อันนี้เชื่อว่าคงมีหลายคนสับสนบ้าง เพราะหลายๆ คนอาจใช้งาน Gmail หรือ Hotmail หรือ Outlook เป็นหลักมาก่อน ก็เลือกใช้ตามสะดวกละกันครับ แต่อย่างน้อยเปิดใช้งานบัญชีไว้ก่อน จำรหัสผ่านให้ได้ (จะได้ไม่ต้องเดินไปที่ศูนย์ IT) แล้วเอามาใช้งานแบบร่วมกันกับบัญชีอื่นก็ได้ครับ 

ยกตัวอย่าง ตัวผมเอง ตอนนี้ผมใช้งานบัญชี Gmail เป็นหลัก โดยผมดึง Email จาก MFU mail (ผมเป็น พนักงานน่ะนะครับ) มาอ่านบน Gmail รวมถึง ดึง Email จาก Hotmail มาอ่านด้วย และตอบตอบเมลล์ก็ตอบจาก Gmail นั่นแหละ โดยเราเลือกได้ว่าจะตอบในนามของ Gmail หรือ เมลล์ที่เราดึงมาอ่านก็ได้ 
ตามรูปด้านล่าง ผมดึง Email มาจาก 4 บัญชี เพื่อนำมาเปิดอ่านด้วยบัญชี Gmail ที่ผมใช้งานปกติครับ



กรณีการเข้าถึง Google drive ของ มฟล. ผมจะแจ้งเพื่อนร่วมงานว่า ขอสิทธิ์ให้ Gmail ของผมด้วยเพื่อที่ผมจะได้ใช้งานได้สะดวกขึ้น แต่หากใช้งานบน Google Chrome เราก็สามารถสร้าง Account ให้ Google Chrome ได้ด้วยนะครับ ตามรูปด้านล่าง ผมสร้าง Account ตามบัญชีของ Gmail และ MFU mail แยกเป็น 3 ชื่อ เพื่อความสะดวกในการเข้าใช้งานบริการบางอย่างน่ะนะครับ


ก็ใช้งานแบบนี้มาร่วมๆ 2 ปีแล้ว ก็สามารถใช้งานได้ ไม่มีปัญหาน่ะนะครับ ถามว่าทำไมผมไม่ใช้บัญชีของ MFU mail ไปเลย อันนี้เนื่องจากว่า กรณีของพนักงาน หากพ้นสภาพการเป็นพนักงานแล้ว บัญชีเราจะต้องคืนให้มหาวิทยาลัยครับ ซึ่งอาจมีผลอะไรสักอย่างในอนาคต ดังนั้น ผมก็เลยใช้ Gmail ในชีวิตประจำวันเหมือนเดิม แต่ใช้ MFU mail ในการติดต่องานของ มฟล. ประมาณนี้ครับ 

ถึงตอนนี้ ก็คิดว่า น้องๆ น่าจะพอมีไอเดียในการนำ Lamduan mail ไปใช้งานบ้างแล้วนะครับ จะใช้งานแบบเมลล์เดียวจบ หรือ จะใช้ร่วมกับเมลล์เดิมที่เคยใช้ ก็สามารถเลือกได้ตามใจชอบครับ สำหรับวันนี้ ก็คงต้องบอกว่า ราตรีสวัสดิ์ (เขียนเสร็จตอน ห้าทุ่มครึ่ง) แล้วพบกันใหม่ ตอนหน้านะครับ

*เพิ่มเติมอีกนิดหน่อย ในเนื้อหาด้านบน กล่าวถึงการดึงเอา Email จากบัญชีอื่นมาเปิดอ่านด้วย Gmail และ Lamduan mail ซึ่งเมื่อก่อนก็นับเป็นฟังก์ชันที่น่าสนใจของ Gmail เค้านะครับ แต่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น Hotmail (หรือชื่อใหม่ Outlook) หรือ Yahoo ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน และหากใครใช้งาน Windows Phone (จะมีรึป่าวนะ) ก็สามารถดึงเอา Lamduan mail ไปเปิดอ่านด้วย Outlook บนมือถือได้เลยครับ จะดึงแบบ ดึงผ่านบัญชีของ Outlook (ต้องตั้งค่าบัญชีจาก Browser) หรือ จะดึงโดยใช้ Apps mail ของ Windows ก็ได้ครับ

หวังว่า บทความนี้ (ที่ผมเขียนวนไป วนมานี่แหละ) จะช่วยให้น้องๆ มองเห็นภาพรวมๆ ของ Lamduan mail ข้อแตกต่าง ข้อดี ข้อไม่ค่อยดีของ lamduan mail และ gmail และสามารถเอาไปปรับใช้งานตามความชอบของตนเองได้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น